๑. การแก้ไขปัญหาโดยวิธีการแจกถุงยังชีพให้ราษฎร ที่ทำเป็นประจำเกือบเป็นปกติ แทบทุกปีนั้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยฉุกเฉินเฉพาะหน้าเท่านั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาว แบบยั่งยืนได้ นอกจากเป็นวิธีที่ช่วยแบบไม่ทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนแล้ว ยังทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดิน แบบซ้ำซากทุกปี และมีการรั่วไหลของงบประมาณจากกิจการ “แจก” เช่นนี้จำนวนมากอีกด้วย
๒. การแก้ไขปัญหาในระยะปานกลาง ด้วยโครงการและงบประมาณสร้างพนังกั้นน้ำ ทั้งแบบพนังดิน พนังลาดยาง และพนังกระสอบทรายนั้น มีความจำเป็น สามารถจะวางแผนงบประมาณได้ล่วงหน้า จากการวิจัยและการประเมินปริมาตรน้ำล่วงหน้า ในตลอดแนวพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำทุกสายทั่วประเทศ โดยทำไปพร้อมกับ การประเมินโครงการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำขนาดต่างๆ อย่างเหมาะสม กับปริมาตรน้ำที่ประเมินไว้ล่วงหน้า แม้สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนได้
๓. การแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นั้น มีความจำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัย ถึงประสิทธิผลการเก็บกักน้ำ และผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมาย และอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาการทำความเข้าใจกับองค์กรภาคเอกชน และประชาชนอีกด้วย จึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ตามแนวพระราชดำริ เป็นสำคัญ
๔. ข้อเสนอที่เป็นทางเลือกใหม่ อ้างอิงหลักคิดตามแนวพระราชดำริ คือการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยใช้แนวคิดโครงการแก้มลิง ตามแนวพระราชดำริ ตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำทุกสายทั่วประเทศ โดยการสร้างแก้มลิง มีประตูน้ำ และแผนการใช้นำตามหลักการชลประทาน ตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำไทยทุกสายทั่วประเทศ
เมื่อคำนึงความจริงว่า “น้ำคือชีวิต” แล้ว แนวคิดโครงการแก้มลิงสองฝั่งแม่น้ำทุกสายของไทย จะเป็นแนวทางที่เหมาะสม ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรได้ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย จะเป็นการทำวิกฤตน้ำท่วม ให้เป็นโอกาสการพัฒนาประเทศได้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรได้ตลอดแนวสองฝั่งริมแม่น้ำไทยทุกสายที่เกิดน้ำท่วมทุกปีได้
โครงการแก้มลิง ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำทุกสาย จะกลายเป็น แหล่งทรัพยากรน้ำ ที่จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ได้ ในตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำในหน้าแล้ง จะทำให้เราสามารถสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้จากการประมงน้ำจืด จากการเกษตรได้ สร้างรายได้จากการทำนาครั้งที่สอง ครั้งที่สามได้ จะเป็นวิธีการที่จะทำให้ อีสานเขียว เหนือเขียวได้จริง อย่างที่ประชาชนจำนวนมากเคยคิดฝันไว้
เมื่อคำนึงถึงสภาพน้ำท่วม ริมแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ แม่น้ำโขง ชี มูล ปาว สงคราม น้ำพอง ลำตะคอง และ แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง ตาปี และแม่น้ำสายรองต่างๆทั่วประเทศ ในฤดูมรสุมทุกปีมักจะมีน้ำท่วมซ้ำซาก ทำให้เกิดปัญหาและความสูญเสียมากมายดังทราบกันทั่วไปแล้ว
แต่หากเราคิดใหม่ โดยไม่กั้นน้ำ ไม่ปล่อยให้น้ำให้ไหลทิ้งเปล่าๆ แต่เราต้องคิดเก็บกักน้ำไว้แทน น้ำที่มีปริมาณมากมายที่ท่วมไร่นา ไหลล้นท่วมถนนในฤดูมรสุม หากเราเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ ในหน้าแล้งหรือ หรือเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปีได้ ก็จะทำให้ไทยทุกภูมิภาค กลายเป็นแผ่นดินเงินได้จริง
โครงการแก้มลิงสองฝั่งแม่น้ำทุกสาย จะทำให้ที่นาน้ำท่วมซ้ำซาก ให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ให้เป็นแก้มลิง เป็นบึงลึก เป็นหนองน้ำลึก เป็นบ่อน้ำลึก มีฐานกันน้ำซึมในหน้าแล้ง มีประตูรับน้ำเข้า และปล่อยน้ำออกตามความจำเป็น มีคลองส่งน้ำ หรือท่อส่งน้ำ เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ สามารถทำเป็นระบบชลประทานระบบท่อเพื่อการเกษตรได้ อบต.หรือชุมชน จะต้องมีอุปกรณ์สำคัญเป็นเครื่องสูบน้ำขนาดต่างๆ ตามความสูงต่ำของพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่รอบ “แก้มลิง” แต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้ว่า อาชีพที่เกิดจากแหล่งน้ำแก้มลิง จะสามารถทำรายได้ ได้มากกว่าการทำนา ในเขตน้ำท่วมมากมาย
โครงการแก้มลิงนี้ สามารถดำเนินการให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ทั้งในระดับวิศวกรรมชลประทานขนาดใหญ่ หรืออาจสามารถดำเนินการ ให้เป็นฝายพร้อมประตูน้ำขนาดเล็กได้ ในระดับที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็ทำได้ สามารถใช้วงเงินงบประมาณของอบต.เองเพื่อขุดลอก หนองคลอง บึง ด้วยเครื่องจักร ด้วยรถ “แบ็คโฮ” ของอบต.เองก็ได้
หากดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยปรับพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ริมสองฝั่งแม่น้ำต่างๆทั่วประเทศ ให้เป็น แหล่งเก็บกักน้ำ “แก้มลิง” ตามแนวพระราชดำริได้ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน และยังจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ เพื่อการเกษตร เพื่อการประมง ในหน้าแล้ง จะสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับราษฏรได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว.
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการ “แก้มลิง” สองฝั่งแม่น้ำสายหลักของไทยทั้งหมด เป็นความจำเป็น และเห็นควรให้ดำเนินการเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป